ธปท.ย้ำต้องรักษาสมดุลนวัตกรรมควบคู่ดูแลความเสี่ยง ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เร่งหารือสมาคมธนาคารไทย-ปปง.แก้ปัญหาเสียบบัตรฝากเงิน ใช้บัตรประชาชนมีความเสี่ยงและเพิ่มต้นทุน อาจใช้โมบายทดแทน เผย CBDC ภาคธุรกิจมีโอกาสใช้ได้จริงภายใน 5 ปี
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Unlocking Opportunities for Thailand with Responsible Financial Innovations” ในงาน BOT Digital Finance Conference 2022 ว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทาย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การเติบโตทางเศรษฐกิจและผลิตภาพการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งการขาดความสามารถในการแข่งขัน
2.การขาดภูมิคุ้มกัน (resiliency) ที่เพียงพอในการรับมือกับความผันผวนต่างๆ ในโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
3.การละเลยความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเห็นได้ชัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
4.ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ
“ที่ผ่านมา ธปท.ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเน้นแก้โจทย์ข้อแรกเป็นหลัก การเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยครอบคลุมอีก 3 ด้านที่เหลือมากขึ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา “นวัตกรรม” เหมือนจะเป็นคำตอบสำคัญที่ภาคส่วนต่างๆ เห็นว่าจะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวผ่านความท้าทายข้างต้น โดยเฉพาะการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ควรพิจารณานวัตกรรมจากเฉพาะแง่มุมของการเป็นสิ่งใหม่ที่ดูจะมีศักยภาพเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลความเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย หรือที่เรียกว่า “นวัตกรรมที่มีการดูแลความเสี่ยงบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (responsible innovation)”
ทั้งนี้ Responsible innovation ในมุมมองของ ธปท. จะต้องมี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1.สามารถเสริมสร้างศักยภาพและ productivity ของเศรษฐกิจได้จริง
2.ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน (เช่น นวัตกรรมต้องไม่ทำเพื่อหวังเก็งกำไร สร้างกระแส หรือหลอกลวงประชาชน)
3.คำนึงถึงมิติความยั่งยืน (เช่น ไม่สร้างภาระหนี้จนเกินสมควรในระยะยาว)
4.ช่วยสร้างความมั่งคั่งที่สังคมสามารถเข้าถึง และได้รับประโยชน์ร่วมกันได้อย่างทั่วถึง ไม่เหลื่อมล้ำ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
นวัตกรรมที่มีการดูแลความเสี่ยง บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม เช่น
– โครงการ PromptPay ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับประชาชนและกิจการขนาดใหญ่หรือเล็กสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริม resiliency โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19
– โครงการ mBridge เป็นการทดลอง Wholesale CBDC ร่วมกับธนาคารกลางอื่นหลายแห่ง เพื่อแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศ ทำให้สามารถโอนเงินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนและความเสี่ยงด้านการชำระดุลที่ต่ำลงการทำ tokenization ของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือใบแจ้งหนี้ (invoice) แม้จะเป็นแนวคิดใหม่ แต่มีศักยภาพในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงระบบการเงินซึ่งอาจเป็น game changer ต่อไป
ธปท. จะให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิด responsible innovation ในภาคการเงินไทย ขณะเดียวกัน จะดูแลไม่ให้เกิดกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ความเท่าเทียมกัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการ ได้แก่
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ผลักดันการวางระบบชำระเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศ โครงการ CBDC การพิสูจน์และยืนยันตัวตนนิติบุคคล และการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ (open data) โดยเน้นลดต้นทุนและลดระยะเวลา
CBDC สำหรับภาคธุรกิจมีความคืบหน้ามาก และโอกาสที่จะนำมาใช้ได้จริงภายใน 5 ปี ส่วน CBDC รายย่อยอาจจะต้องมีการทดสอบอีกระยะหนึ่ง โดย ธปท.ได้ประเมินผลดีและผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงมากกว่าผลดี จำเป็นมีการศึกษาทดลองอย่าวถี่ถ้วน นอกจากนี้ ระบบพร้อมเพย์ยังสามารถใช้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่มาก และตอบโจทย์รายย่อยได้เป็นอย่างดี
ส่วรประเด็นเสียบบัตรเดบิต-บัตรเครดิตยืนยันตัวตนตู้ CDM ตอนฝากเงินบัตรฝากเงินนั้น ธปท.ได้หารือสมาคมธนาคารไทย และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ดำเนินโครงการ CDM AMRO โดยปปง.ต้องการยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และป้องกันการฟอกเงิน ตามกฎเกณฑ์หน่วยงาน ปปง. จะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.65 เป็นต้นไป ให้เลื่อนใช้ไปก่อน
ธปท.กับสมาคมธนาคารไทยกำลังเร่งหาแนวทางอื่นเพื่อความปลอดภัย โดยไม่ให้เป็นภาระประชาชน โดยหลายฝ่ายต้องการที่จะให้ใช้บัตรประชาชนแทนนั้น มีการประเมินผลแล้วมีความเสี่ยงและสถาบันการเงินต้องลงทุนจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งหาวิธีอื่น เช่น การใช้โมบาย หรือ OTP ในการยืนยันตัวตนก็ได้