9 เม.ย. 2564 เว็บไซต์ นสพ.Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น เสนอรายงานพิเศษ Thailand’s captive elephants face uncertain future ว่าด้วยชะตากรรมของช้างในประเทศไทยที่ยังไม่รู้อนาคต เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวที่เคยมีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อควาญหรือผู้เลี้ยงช้างไม่สามารถหารายได้จากนักท่องเที่ยวมาดูแลช้างด้วย
วิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ทำให้รัฐบาลต้องปิดประเทศ ช้างที่เลี้ยงถูกเลี้ยงไว้ตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จ.สุรินทร์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวริมทะเลภาคตะวันออก และ จ.ภูเก็ต เกาะที่มีชื่อเสียงทางภาคใต้ ตลอดจน จ.เชียงใหม่ เมืองทางภาคเหนือที่โดดเด่นด้านทิวทัศน์แบบภูเขา รวมกว่า 3,800 เชือก จึงถูกปลดระวางพร้อมๆ กับคนเลี้ยงช้างที่ต้องกลับบ้านเกิด
อาทิ ห้วยผักกูด (Huay Pakkot) หมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 180 กิโลเมตร Theerapat Trungprakan ประธานสมาคมพันธมิตรช้างไทย เล่าว่า หลังจากเดินทาง 2 วัน ควาญช้างสังเกตเห็นสัญญาณแห่งความสุขจากช้างที่พวกเขาเลี้ยง ควาญช้างไม่จำเป็นต้องนำทางเพราะช้างเดินเองราวกับรู้ว่าจะต้องไปที่ใด แต่ปัญหาคือหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 600 คน จะดูแลช้างถึง 80 เชือกได้อย่างไร
ห้วยผักกูดและหมู่บ้านใกล้เคียง มีประวัติศาสตร์ระหว่างคนกับช้างมาตั้งแต่ยุคที่ภาคเหนือของไทยยังนิยมทำอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทั่งปี 2532 เมื่อรัฐบาลไทยยุติสัมปทานการตัดไม้ทั่วประเทศ ช้างที่เคยถูกนำมาใช้ลากไม้ก็ต้องเปลี่ยนงานไปอยู่ในภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตขึ้นมา แต่ในการเดินทางกลับบ้านของช้างหนนี้ หมู่บ้านก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว Theerapat กล่าวว่า ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้หายไป มันถูกแทนที่ด้วยภูเขาหัวโล้นที่ถูกเตรียมไว้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในดินเต็มไปด้วยปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อช้างทั้งสิ้น
Satit Trachookwamdee อดีตควาญช้างซึ่งในครอบครัวมีช้าง 5 เชือก กล่าวว่า ปัจจุบันช้างต้องแบ่งพื้นที่ใช้สอยกับการเกษตรสมัยใหม่ พวกมันสามารถหาอาหารได้เพียงร้อยละ 10 จากเดิมในพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ ส่วนที่เหลือจึงต้องขนส่งมาจากพื้นที่ที่ไกลออกไป แน่นอนมันหมายถึงค่าใช้จ่ายเพราะช้างสามรรถกินอาหารได้ถึง 300 กิโลกรัมต่อวัน ช้างยังต้องถูกล่ามโซ่ไว้เพื่อไม่ให้ออกไปทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ช้างวัยรุ่นยังมีความเครียดและบางครั้งมันก็ต่อสู้กัน ส่วนหนึ่งเกิดจากช้างเหล่านั้นมาจากคนละที่แต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน
ไม่ไกลจากห้วยผักกูดมากนัก Nana ช้างเพศเมียวัย 8 ปี กำลังให้สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจดูอาการบาดเจ็บที่ลิ้น เพดานปากและปลายลำตัว เนื่องจากกินสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อที่จะช่วยเหลือช้าง Theerapat ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและรัฐบาลไทย จัดตั้งคลินิกเคลื่อนที่สำหรับช้างแห่งแรกของโลก รถบรรทุกถูกดัดแปลงให้สามารถใช้เป็นโรงพยาบาลได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที หรือใช้เคลื่อนย้ายช้างที่เจ็บป่วยรุนแรงไปยังโรงพยาบาลช้างที่มีอยู่ 4 แห่งทั่วประเทศไทย
ความท้ายทายสำคัญอยู่ที่การเข้าถึงช้างในพื้นที่ห่างไกล เมื่อเทียบกับการที่ช้างอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือได้ง่ายกว่า ประกอบกับชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจึงไม่มีรายได้เพียงพอดูแลสัตว์ยักษ์เหล่านี้ ถึงกระนั้น Pongkavi Kwansaodaeng ควาญช้างที่เลี้ยงช้าง 4 เชือก กล่าวว่า ช้างดูมีความสุขเมื่ออยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งสังเกตได้จากการแสดงออกผ่านสายตาของพวกมัน เนื่องจากพวกมันมีเวลาเล่นและเข้าสังคมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ควาญช้างผู้นี้ ยอมรับว่า คงไม่มีทางอยู่แบบนี้ตลอดไปได้ ในยุคสมัยก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตนมีรายได้ 766 เหรียญสหรัฐ หรือ 24,000 บาท ต่อช้าง 1 ตัวต่อเดือน แต่วันนี้เงินออมที่มีอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปกับค่าอาหารช้างคาดว่าจะหมดในเวลา 1 ปี บนความคาดหวังว่า ในเดือน ต.ค. 2564 จะสามารถเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวอีกครั้ง
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งไม่รออยู่เฉยๆ พวกเขาพยายามดิ้นรนหารายได้ เช่น เปิดรับเงินบริจาค ขายกาแฟ บัตรกำนัลสำหรับเยี่ยมชมในอนาคต และกิจกรรมถ่ายรูปกับช้างสำหรับวัยรุ่นไทย Theerapat ซึ่งเป็นเจ้าของ Patara Elephant Farm ใกล้กับตัวเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า ปัจจุบันมีพียง 10 คนต่อสัปดาห์ น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติโรคระบาดที่มีถึง 45 คนต่อวัน ฟาร์มแห่งนี้เคยมีชื่อเสียงเรื่องการเพาะพันธุ์และดูแลรักษาช้าง เคยมีช้าง 81 เชือก แต่วันนี้ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อดูแลช้าง 40 เชือกที่ยังเหลืออยู่
Theerapat เล่าว่า ตนทำหมดแล้วทั้งการใช้ทั้งเงินออม ออกไปหากู้เงิน และขายทรัพย์สินต่างๆ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจนี้ รวมถึงกล่าวอย่างตลกร้ายว่า ในวันที่ธุรกิจรุ่งเรือง ตนอาจจะไปพบใครต่อใครด้วยรถสปอร์ต แต่วันนี้ตนเดินทางด้วยรถยนต์เก่าอายุ 40 ปี ถึงกระนั้นก็ยืนยันว่ายังมีความหวัง การท่องเที่ยวช้างที่เคยทำรายได้ให้ประเทศไทยถึง 6 พันล้านบาทต่อปีจะกลับมาในไม่ช้า แต่วันนี้เป็นเรื่องของการปฏิรูป และย้ำว่าอย่ามองการท่องเที่ยวช้างเป็นธุรกิจ แต่ให้มองเป็นการอนุรักษ์ ดังนั้นต้องออกแบบให้ถูกต้อง
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ในอดีตมีผู้ประกอบการไม่กี่รายที่สามารถทำเช่นนี้ได้ ยุคแรกๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีการนำช้างมาแสดงการเล่นบาสเก็ตบอล ฟุตบอล และอื่นๆ ที่คล้ายกับละครสัตว์ บางเชือกยังเรียนรู้การวาดรูปและเล่นดนตรี แต่ก็มีบางแห่งพบรายงานการเลี้ยงดูช้างที่ไม่ดีและการทำร้ายช้าง กระแสรณรงค์เรื่องทารุณกรรมสัตว์ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนของผู้ประกอบการ เช่น ยกเลิกกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปทำกิจกรรมให้อาหารและอาบน้ำช้าง
แต่อีกด้านหนึ่ง Theerapat ก็กล่าวว่า ช้างจำเป็นต้องออกกำลังกายทุกวัน ไม่เช่นนั้นมันจะมีน้ำหนักเกินและทรมานกับโรคทางเดินอาหาร หากเป็นช้างเพศเมียยังมีปัญหาเรื่องการคลอดลูกที่บางเชือกเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถทำการท่องเที่ยวโดนมุ่งเน้นตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เป็นการท่องเที่ยวที่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของช้างด้วย
สำหรับผู้ที่คิดเหมือนกับ Theerapat การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบดูจะเป็นหนทางเดียวในการป้องกันการสูญพันธุ์ของช้าง การปล่อยช้างจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่กระจัดกระจายและอ่อนไหวสูงของประเทศจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ส่วนการกลับไปบ้านที่ไม่มีงานให้ทำอีกต่อไปอย่างไรก็ต้องมีวันสิ้นสุด Theerapat กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้มีบางคนอยากทำลายการท่องเที่ยวช้าง พวกเขาสมหวังแล้ว แต่อย่างไรต่อ? ใครจะรับผิดชอบกับอนาคตของพวกเขา
แหล่งข่าว https://www.naewna.com/inter/565017